แชร์

ไขมันในเลือดสูงเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

อัพเดทล่าสุด: 10 ก.ค. 2025
31 ผู้เข้าชม

ภาวะไขมันในเลือดสูง

โดยปกติร่างกายคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ

     1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) อาจมีระดับสูงขึ้นจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารหวาน มัน เค็ม เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารทะเล โดยเฉพาะไขมันทรานส์ พบได้ในขนมอบ ขนมกรุบกรอบ และครีมเทียม ในผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับคอเลสเตอรอลสูงจากกรรมพันธุ์ โดยคอเลสเตอรอลแบ่งเป็น

ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือไขมันชนิดที่ไม่ดี เป็นชนิดอันตรายเพราะเป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และหลอดเลือดสมองตีบ
ชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) หรือไขมันชนิดที่ดี ทำหน้าที่ขจัดไขมันอันตรายไปจากกระแสเลือด ต่อต้านการสะสมผิดที่ของไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ HDL ยิ่งสูงยิ่งดีต่อร่างกาย
     2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) อาจมีระดับสูงขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน การดื่มสุรา และยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน สเตียรอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงจากกรรมพันธุ์เช่นกัน

     เมื่อใดที่ร่างกายมีไขมันมากเกินไป ไขมันจะไปเกาะตามผนังด้านในของหลอดเลือด ถ้าไขมันสูงมากจะมีผลทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก โดยเฉพาะบริเวณขาทำให้เดินแล้วปวดน่อง และอาจส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เกิดโรคหัวใจขาดเลือดหรืออาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ มากขึ้น ระดับไขมันในร่างกายที่ปกติ คือ คอเลสเตอรอล ต่ำกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ต่ำกว่า 200 มก./ดล. และเอชดีแอล คอเลสเตอรอล สูงกว่า 35 มก./ดล. 

สาเหตุการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
     1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
     2. โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ขาดฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
     3. จากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์
     4. การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ
     5. การดื่มสุราเป็นประจำ

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้มีภาวะไขมันในเลือดสูง
     1. จำกัดอาหารและเลือกรับประทานให้เหมาะสม   สามารถรับประทานไขมันอิ่มตัวได้ไม่เกิน 140 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือประมาณ 16 กรัมของไขมันอิ่มตัว  คนปกติควรรับประทานคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทานคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
     2. ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และ/หรือคอเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น 
     3.ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (Monounsaturated fats) และ/หรือไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fats) แทนไขมันอิ่มตัว ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ทำจากพืช ถั่วต่างๆ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลาชนิดต่างๆ
    4.เน้นการปรุงประกอบอาหารแบบต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันควรลดปริมาณให้น้อยลงหรือเลี่ยงการใช้น้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวในการบริโภคได้
     5. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
     6. งดสูบบุหรี่
     7. ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน
     8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ได้อย่างดี ควรทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy